ตราประจำโรงเรียนเสมาธรรมจักร
ตราเสมาธรรมจักร ที่มีตราราชวัลลภซ้อนหลังอยู่นั้น เมื่อสมัยเตรียมงานฉลองร้อยปีกระทรวงศึกษาธิการ ได้เคย มีการคิดจะย้ายตราเสมาธรรมจักรไปไว้ที่ซุ้มหน้าประตู เพื่อเปิดตราราชวัลลภ ซึ่งเป็นของโบราณให้เห็นจากภายนอก แต่จากการปีนฝ้าเพดาน ขึ้นไปสำรวจโดยละเอียดพบว่า ตราเสมาธรรมจักรนั้น สร้างบนพนังก่ออิฐฉาบปูน หากจะเคลื่อนย้ายไปไว้ที่อื่น จะทำให้ตราเสมาธรรมจักร อายุกว่า ๕๐ ปี แตกหักเสียหาย เพราะ มิใช้เป็นแท่งคอนกรีตหล่อ การสร้างตราเสมาธรรมจักรที่หน้าจั่วอาคารนั้น เป็นการสร้างอย่างตั้งใจทำสมัยย้าย กระทรวงธรรมการมาตั้งที่วังจันทรเกษม เพราะต้องดัดแปลงอาคารเดิมที่มีตราราชวัลลภ ของกรมทหาร มหาดเล็กรักษาพระองค์มาเป็นอาคารสำนักงาน ของกระทรวงธรรมการ โดยไม่อยากทำลายตราราชวัลลภ ของเดิม จึงต้องสร้างหน้าบันซ้อนอีกชั้นหนึ่ง หมดเงินไปหลายหมื่นบาท ดังนั้นที่ประชุมอธิบดี ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ จึงได้มีมติให้คงตราเสมาธรรมจักรไว้ที่หน้าจั่วกระทรวงตามเดิม
พระพุทธรูปประจำโรงเรียน
ปางลีลา เป็นพระพุทธรูปมีลักษณะกำลังก้าวพระบาท (ก้าวเดิน) พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน
ความเป็นมาของปางลีลา
เมื่อคราวเสด็จพระพุทธดำเนินลงจากดาวดึงส์เทวโลกนั้นพระพุทธองค์อยู่ในท่ามกลางเทวดาและพระพรหมห้อมล้อม เป็นอิริยาบถที่งามนัก ถึงกับพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรยังไม่วายชื่นชมว่า“การที่พระพุทธเจ้าทรงพระสิริโสภาคอันงามปานนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยเห็นเลย ไม่เคยได้ยินแม้แต่ถ้อยคำใคร ๆ บอกเล่าพระพุทธองค์มีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้เสด็จจากดุสิตมาสู่แผ่นดิน”พระพุทธเจ้าได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยบันไดแก้วมณีมัย ท่ามกลางเทพยาดา เมื่อเสด็จมาถึงเชิงบันไดที่สังกัสสนคร เสด็จก้าวย่างลงจากบันไดแก้วนั้น ทรงเหยียบพื้นดินแห่งเมืองสังกัสสนคร ท่ามกลางมวลประชาชนผู้รอเฝ้ารับเสด็จกันอย่างเนืองแน่นด้วยความปิติยินดี ในการเสด็จกลับของพระองค์พระพุทธจริยาตอนเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า “ปางลีลา”
ต้นไม้ประจำโรงเรียน
กันเกรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fagraea fragrans) เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนจะออกดอกเป็น ช่อสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย ต้นกันเกรามีชื่อเรียกอื่นว่า มันปลา ตำเสา มะซูไม้ต้น
กันเกรามีความสวยงามและกลิ่นหอมไม่เหมือนใคร ทั้งยังเป็นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก และพะยูง ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมเมื่อเวลาก่อสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล นอกจากนั่นคนอีสานยังนำมาบูชาพระโดยเฉพาะเมื่อเวลางานบุญบวชนาคช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะถึงวันบวชนาคผู้ที่จะบวชนาคต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจอย่างดี เรียกว่า การเข้านาค ผู้ที่จะบวชนาคซึ่งต้องมาเข้านาคนั้นจะต้องแต่งกายชุดสุภาพ มีผ้าแพรหรือผ้าขาวม้าพับอย่างงามพาดบ่า รวมทั้งละเว้นอบายมุขต่างๆ พิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาคจะมีการแห่ดอกไม้ก็คือดอกมันปลาหรือดอกกันเกรา